ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สถาบันคลังสมองของชาติควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร


สถาบันคลังสมองของชาติควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร



          ค่ำวันที่ ๒๓ ก.ค. ๕๒ คณะกรรมการสถาบันคลังสมองของชาติไปรับประทานอาหารเย็นด้วยความอนุเคราะห์ของท่านอมเรศ ศิลาอ่อน   เพื่อต้อนรับ ผอ. สถาบันคลังสมองของชาติ คนใหม่    คือ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง 
          เราคุยกันเรื่องจิปาถะ    จนเกือบจะเลิกการประชุม ท่าน ผอ. คนใหม่ที่จะเริ่มรับงานวันที่ ๑ ส.ค. ก็ถามขึ้นว่า    บอร์ด ของ KNIT มีนโยบายเชิงยุทธศาสตร์การทำงานอย่างไร   ต้องการเน้นผลงานระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว ในน้ำหนักอย่างไร
          เป็นการบอกทางอ้อม ว่า บอร์ด ของ KNIT เลือก ผอ. ถูกคนแล้ว  
          ผมกลับมาครุ่นคิดที่บ้านว่า จริงๆ แล้ว KNIT ควรทำอะไร   ในที่สุดแล้วผมตอบตัวเองว่า    KNIT ควรทำบทบาทสร้าง Value-add ให้แก่สถาบันอุดมศึกษา    ในลักษณะของการทำบทบาท empowerment ด้วยกระบวนการ และด้วยความรู้
          พูดใหม่ ว่า สถาบันอุดมศึกษามีศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้    บางส่วนสถาบันเองอาจไม่รู้ตัวว่าตนมีดี ที่ปรับหน่อยเดียวก็เอามาทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ    แต่ปรับยาก เพราะมีความแข็งตัวของระบบ หรือของวิธีคิด ปิดกั้นไว้    KNIT จะหายุทธศาสตร์สร้าง platform ใหม่ๆ    ให้สถาบันอุดมศึกษาได้แสดงฝีมือ ที่จริงๆ แล้ว ตนมีอยู่แล้ว    ให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง   และสถาบันก็ได้ผลงาน (ที่ตนไม่เคยคิด)
          ผมเรียกว่า ยุทธการจับเสือมือเปล่า   ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่มือเปล่าเสียทีเดียว    KNIT มีเงินนิดหน่อย สำหรับใช้สร้าง platform ของกิจกรรม   แต่ที่มีมากกว่านั้นคือการจัดการ    ศ. ดร. ปิยะวัติ เป็นคนพูดน้อย    แต่เป็นมือฉมังด้านการจัดการ ที่มีความลุ่มลึก   และมุ่งหมายที่คุณค่าแท้จริงของบ้านเมือง
          การออกแบบวิธีทำงานแบบ empowerment เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่บ้านเมืองนี้ เป็นเรื่องสนุกมากครับ   และจริงๆ แล้ว มียุทธศาสร์ได้หลายแบบ   แบบหนึ่งคือทำบทบาท connector หรือ networker ทำหน้าที่เชื่อมโยงฝ่ายต่างๆ เข้าหากัน ร่วมมือกัน   พอเกิด collaboration ก็เกิด value-add ทันที   
          พูดง่าย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้   ต้องอาศัยทักษะชั้นสูง   ซึ่ง ศ. ปิยะวัติได้พิสูจน์ผลงานแล้วที่ สกว.     
          ดังนั้น ยุทธศาสตร์หนึ่งในการทำงานของ KNIT จึงน่าจะได้แก่   สร้าง platform ให้ real sector กับมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกัน   ทำให้มหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรฉุดประเทศไปข้างหน้าด้วยความรู้    และในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้ เพื่อให้มีความสามารถในการทำงานเชื่อมโยงกับชีวิตจริงด้านต่างๆ
          จุดอ่อนของสถาบันอุดมศึกษาไทยในภาพรวมคือ   มีความรู้เชิงทฤษฎีที่ลอย ไม่เชื่อมโยงกับความเป็นจริงในสังคม   เวลาให้เอาความรู้ไปสู่การใช้ ก็ทำไม่ได้    เพราะไม่มีประสบการณ์   KNIT ควรเข้าไปสร้าง platform การทำงานร่วมกัน   เพื่อให้มหาวิทยาลัยกำจัดจุดอ่อนนี้ของตน โดยไม่ต้องเอ่ยถึงมันให้ช้ำใจ
          ถึงตอนทำงาน จะมีทั้งงานที่เห็นผลเร็ว เห็นผลปานกลาง และเห็นผลในระยะยาว   ต้องกระจายการทำงานให้เห็นผลหลายกาละให้เหมาะสม    เพื่อสร้างการยอมรับของสังคม
          มองในภาพใหญ่ KNIT ควรทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการที่สถาบันอุดมศึกษาจะ transform ตนเอง    หรืออาจเรียกว่า ทำหน้าที่ transform ระบบอุดมศึกษา นั่นเอง 
         สิ่งที่ KNIT ไม่ควรทำ คือเข้าไปทำงานเอง คล้ายเป็น doer แข่งกับมหาวิทยาลัย หรือ player อื่นๆ ใน “ป่าแห่งระบบความรู้”  
          คือ KNIT ควรสร้างตัวตนโดยทำตัวให้ไม่มีตัวตน หรือมีตัวตนน้อยที่สุด   ตัวตนที่ประจักษ์คือ “ช่างเชื่อม
          ความเห็นนี้ไม่ยืนยันว่าถูกต้อง
วิจารณ์ พานิช
๒๔ ก.ค. ๕๒  
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

ความคิดเห็น